วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภาพแบบ HDR shared by ศุภรักษ์ เจริญรักษ์

shared by ศุภรักษ์ เจริญรักษ์

http://umayplus92.exteen.com


เทคนิคการถ่าย และการตบแต่งภาพให้เป็น HDR
ภาพแบบ HDR (High Dynamic Range) นั้นเปี่ยมไปด้วยความงดงาม แต่เทคนิคการถ่ายและตกแต่งภาพทำให้หลายๆ คนถอดใจไปเสียก่อน ในคราวนี้เราจะแสดงให้ Gareth Leer ผู้อ่านของเราดูว่าจริงๆ แล้วมันง่ายแค่ไหน?
การจะบันทึกภาพๆ เดียวให้มีรายละเอียดทั้งในชาโดว์ มิดโทน และไฮไลต์ ให้สมบูรณ์ครบถ้วนนั้นถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะถ้าคุณใช้ค่าการเปิดรับแสงเพื่อเก็บรายละเอียดไฮไลต์ รายละเอียดในส่วนชาโดว์ของคุณก็จะจมหายไปกับความมืดดำ แต่ถ้าคุณเปิดรับแสงเพื่อชาโดว์ รายละเอียดสำคัญๆ ในส่วนไฮไลท์ของภาพก็จะเลือนหายไป
แต่การสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่มีรายละเอียดสมบูรณ์แบบนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ คำตอบก็คือการถ่ายภาพด้วยเทคนิค High Dynamic Range (HDR) โดยการจัดองค์ประกอบภาพและบันทึกภาพมุมเดียวกันด้วยค่าการเปิดรับแสงที่แตกต่างกัน จากนั้นคุณก็สามารถนำภาพเหล่านั้นมาผสานกันโดยใช้โปรแกรม HDR เพื่อให้ได้ภาพเดี่ยวที่มีรายละเอียดทั้งในส่วนมืดและสว่างได้อย่างครบถ้วนเราได้พา Gareth Leer ผู้อ่านของเราไปสู่เมือง Bristol ซึ่งเป็นเมืองที่เรามั่นใจมากกว่าเราจะหามุมถ่ายภาพได้อย่างไม่ยากเย็น เราตั้งใจมองหามุมมองที่น่าสนใจและเปี่ยมไปด้วยรายละเอียด สีสัน และพื้นผิว
เราพบกับเครนยกเหล่านี้ (ภาพบน) ในบริเวณท่าเรือริมแม่น้ำ เราชอบเงาสะท้อนและก้อนเมฆที่ดูน่าตื่นตาซึ่งจะช่วยเพิ่มมิติให้กับภาพมุมๆ นี้เต็มไปด้วยความท้าทายในแบบที่เรากำลังมองหาอยู่ อย่างท้องฟ้าที่สว่างจ้าและพื้นที่เงาใต้เครน พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูว่าเราจะถ่ายภาพๆ นี้อย่างไร
วิธีบันทึกภาพสำหรับทำ HDR
การถ่ายภาพชุดด้วยค่าการเปิดรับแสงที่แตกต่างกันเพื่อภาพผลลัพธ์แบบ High Dynamic Range
การถ่ายภาพชุดค่าการเปิดรับแสงที่แตกต่างกันนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการใช้คำสั่ง ‘Auto Bracketing’ ในกล้องของคุณ คำสั่งนี้มักจะอยู่บริเวณปุ่มด้านบนหรือในเมนู คำสั่งการถ่ายภาพคร่อมค่าการเปิดรับแสงนี้จะทำให้กล้องของคุณยิงภาพชุดรัวออกไป ซึ่งภาพผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีอยู่ภาพหนึ่งที่มีค่าการเปิดรับแสงที่ถูกต้อง ส่วนภาพที่เหลือก็จะมีค่าแสงที่โอเวอร์หรืออันเดอร์ เราเลือกที่จะถ่ายภาพโดยให้แต่ละภาพนั้นมีค่าแสงที่แตกต่างกันหนึ่งสต็อป ซึ่งก็ทำให้เราได้ภาพทั้งหมดเจ็ดภาพ เริ่มตั้งแต่ภาพที่มีค่าการเปิดรับแสงที่อันเดอร์มากๆ ไปจนถึงภาพที่โอเวอร์มากๆ พร้อมๆ กับภาพที่กล้องบอกว่าได้รับแสงพอดี
ตรวจดูให้แน่ใจด้วยว่ากล้องของคุณนั้นอยู่ที่โหมด Aperture Priority (A หรือ AV) เพราะคุณไม่ต้องการให้ระยะชัดลึกในแต่ละภาพเปลี่ยนแปลง การบันทึกภาพด้วยคำสั่ง Auto Bracketing นี้ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีถ้าเช่นกันสำหรับภาพที่มีส่วนประกอบภายในภาพที่เคลื่อนไหว อย่างเช่น ก้อนเมฆที่กำลังเคลื่อนตัว หรือต้นไม้ที่เอียงลู่ลม แต่ถ้าระยะห่างของเวลาในแต่ละภาพนั้นมีห่างกันมากเกินไป ปัญหาของการเหลื่อมซ้อนก็จะเกิดขึ้นทำให้ขอบของวัตถุต่างๆ ที่เคลื่อนที่เหล่านั้นดูนุ่มเบลอปราศจากความคมชัด
คุณน่าจะลองถ่ายภาพ HDR ภายใต้แสงที่มีความสว่างมากกว่าสภาพแสงที่ขมุกขมัว เพราะด้วยวิธีนี้ ภาพผลลัพธ์ของคุณจะมีช่วงโทนที่น่าตื่นตา ตั้งแต่สีขาวสว่างไปจนถึงเงาภาพสีเข้ม
อุปกรณ์ที่สำคัญ
  1. ขาตั้งกล้อง
    เพื่อที่จะถ่ายภาพหลายๆ ภาพเพื่อนำมาผสานกันในโปรแกรม HDR นี้จึงทำให้ขาตั้งกล้องกลายเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ภาพของคุณจำเป็นต้องวางซ้อนทับกันได้พอดีเพื่อที่โปรแกรมจะสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และถ้าเป็นไปได้ คุณน่าจะเพิ่มน้ำหนักให้กับแกนกลางขาตั้งด้วยการแขวนกระเป๋ากล้องเพื่อเสริมความมั่นคงให้มากขึ้น 
  2. สายลั่นชัตเตอร์
    เพื่อลดการสั่นไหวให้น้อยที่สุด คุณควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับตัวกล้องในทุกกรณี คุณควรลั่นชัตเตอร์โดยใช้สายลั่นชัตเตอร์เพื่อลดการสั่นไหวที่ไม่ต้องการ 
  3. โปรแกรม HDR
    ลองใช้โปรแกรม Photomatix Pro เพื่อผสานภาพของคุณ แม้ว่าคุณจะสามารถสร้างภาพ HDR ได้ในโปรแกรม Photoshop CS หรือ Photoshop Elements และโปรแกรมพิเศษอื่นๆ แต่เราคิดว่าคุณน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากโปรแกรม Photomatix Pro 3 นี้
  4. โปรแกรม Photoshop
    เมื่อคุณผสานภาพทั้งหมดเข้าด้วยกันและรู้สึกพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้แล้ว ให้คุณใช้โปรแกรม Photoshop เพื่อทำการปรับแต่งภาพครั้งสุดท้ายด้วยคำสั่ง Levels และ Curves ขั้นตอนนี้จะช่วยปรับปรุงความเปรียบต่างและทำให้ภาพ HDR ของคุณดูน่าตื่นตาเท่าที่มันจะเป็นได้
เคล็ดลับการถ่ายภาพ
ตอนนี้ Gareth ได้ถ่ายภาพท่าเรือโดยรวมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจึงย้ายไปถ่ายบริเวณโรงรถไฟใกล้ๆ กัน เขาจัดตำแหน่งกล้องในมุมต่ำเพื่อที่จะเก็บภาพฉากหน้าและตัวรถไฟได้อย่างสมบูรณ์
และเพื่อที่จะบันทึกการเคลื่อนไหวของก้อนเมฆที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว เขาจึงเลือกที่จะถ่ายภาพคร่อมค่าการเปิดรับแสงด้วยระบบแมนวลแทนที่จะใช้คำสั่ง Auto Bracketing ดังนั้นเขาจึงปรับตั้งกล้องไว้ที่โหมด Aperture Priority และเลือกใช้รูรับแสงที่ f/16 เพื่อระยะชัดลึกที่เหมาะสม จากนั้นเขาจึงใช้ปุ่ม Exposure Compensation เพื่อสร้างค่าการเปิดรับแสงที่โอเวอร์และอันเดอร์รวมทั้งหมดเจ็ดภาพ
นอกจากนั้น Gareth ยังใช้สายลั่นชัตเตอร์ในการบันทึกภาพแต่ละภาพ และหยุดทิ้งระยะในแต่ละภาพเพื่อรอการสั่นไหวของกล้องให้เหลือน้อยที่สุด
ลดสีเพื่อความตระการตา
เทคนิค HDR ให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมกับภาพขาวดำด้วยเช่นกัน แม้ว่าภาพของ Gareth นั้นจะเต็มไปด้วยสีสันที่อิ่มตัว แต่เราก็ชอบอารมณ์ของภาพขาวดำภาพนี้ไม่แพ้กัน แค่การแปลงภาพใน Photoshop ง่ายๆ ก็สามารถช่วยดึงโทนเทาและดำเข้มให้โดดเด่นออกมาได้อย่างเต็มที่
ทดลองทำเทคนิค HDR
เราจะมาลงในรายละเอียดเคล็ดลับการถ่ายภาพก่อนที่ข้ามไปเริ่มเรียนรู้วิธีการผสานภาพของคุณในโปรแกรม HDR
ยิ่งตัวแบบของคุณมีความหลากหลายมากเท่าใด เอฟเฟ็คท์ HDR ที่คุณจะได้ก็จะมีความสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นหลังจากที่ถ่ายภาพรถไฟแล้ว Gareth จึงได้ลองถ่ายภาพอาคารสีสันสดใสใกล้ๆ กับท่าเรือแห่งนั้น เขาถ่ายภาพด้วยค่าแสงที่แตกต่างกันจำนวนสามภาพ และเนื่องจากภาพ HDR ที่ได้นั้นเกิดจากภาพค่าการเปิดรับแสงเพียงสามภาพ ผลลัพธ์ที่ได้จึงมีช่วงโทนที่น้อยลง ก่อให้เกิดความรู้สึกที่สมจริงมากยิ่งขึ้น

คุณไม่จำเป็นต้องกระหน่ำถ่ายภาพเป็นสิบๆ ภาพสำหรับเทคนิคนี้ เพราะการถ่ายภาพมากเกินไปในทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยสีสันเช่นนี้จะทำให้ภาพ HDR ของคุณกลายเป็นภาพการ์ตูนมากกว่าภาพถ่าย! แต่ภาพ HDR นั้นก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีในทิวทัศน์ที่เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศอย่างเช่นภาพสุสาน ในภาพด้านล่างนี้ ดวงอาทิตย์กำลังซ่อนตัวอยู่หลังเมฆ ดังนั้นแผ่นหินหน้าหลุมศพจึงตกอยู่ในเงามืดและภาพโดยรวมก็ค่อนข้างแบนไร้มิติ แต่ด้วยการบันทึกภาพด้วยค่าการเปิดรับแสงที่แตกต่างกันถึงหกภาพ Gareth ก็สามารถสร้างสรรค์ภาพที่เปี่ยมไปด้วยความลึกและรายละเอียด รวมถึงพื้นผิวและช่วงโทนที่น่าดึงดูดใจ
และก็เหมือนเช่นเคย Gareth ตั้งค่ากล้องไว้ที่คำสั่งคร่อมค่าการเปิดรับแสงอัตโนมัติซึ่งช่วยให้เขามีโอกาสหยุดการเคลื่อนไหวของต้นไม้ในภาพแต่ละภาพได้ดีขึ้น อีกวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงปัญหานี้ก็คือการสร้างเอฟเฟ็คท์ HDR เทียมขึ้นมา ด้วยการถ่ายภาพไฟล์ RAW เพียงภาพเดียว จากนั้นค่อยสร้างภาพโอเวอร์และอันเดอร์ด้วยโปรแกรม Photoshop
วิธีการผสานค่าการเปิดรับแสงของคุณ
ใช้ Photomatix Pro เพื่อเปลี่ยนภาพหลากค่าการเปิดรับแสงทั้งหมดให้กลายเป็นภาพ HDR ที่น่าตื่นตากว่าที่คุณจะจินตนาการได้
เมื่อ Gareth ได้เรียนรู้ศิลปะในการถ่ายคร่อมค่าการเปิดรับแสงแล้ว เราได้ถาม Ali Jenning บรรณาธิการดิจิตอลของเรา เพื่อให้เขาแสดงวิธีการผสานภาพทั้งหมดให้กลายเป็นภาพ HDR ภาพเดียวด้วยโปรแกรม Photomatix Pro 3 และเมื่อเราโหลดภาพเสร็จ Gareth ก็ดูจะงุนงงกับปุ่มและขาเลื่อนจำนวนมาก แต่ Ali อธิบายว่ากระบวนการสร้างสรรค์ภาพนั้นเป็นงานที่ง่ายกว่าสิ่งที่คุณกำลังเผชิญหน้า! เคล็ดลับนะเหรอ? แค่เพ่งความสนใจไปยังกราฟ Histogram ในขณะที่คุณปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ แค่นี้คุณก็จะไม่พลาดแล้ว หัวใจสำคัญก็คือการทดลองกับขาเลื่อนต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คุณต้องการ ลองดูคำแนะนำแบบเป็นขั้นเป็นตอนด้านล่างนี้
  1. โหลดภาพของคุณ >> เพื่อที่จะสร้างภาพ HDR อันดับแรกให้เปิด Photomatix Pro 3 จากนั้นคลิ๊กที่ปุ่ม Generate HDR Image และในหน้าต่างใหม่นี้ ให้คุณคลิ๊กที่ Browse และหาภาพชุดที่คุณต้องการ คุณจะพบกับภาพของ Gareth ในหัวข้อ Images ซึ่งอยู่ในซีดีประจำฉบับนี้ ให้เลือกภาพทั้งหมดใน Images แล้วคลิ๊ก OK
  2. ออปชั่น Generate HDR >> แม้ว่าคุณจะใช้ขาตั้งกล้องแล้วก็ตาม คุณก็ยังควรคลิ๊กที่ปุ่ม Aligh Source Images และสำหรับภาพชุดนี้ ให้คุณติ๊กที่ ออปชั่น By Matching Features จากนั้นติ๊กกล่องทุกๆ กล่อง และในกล่อง Attempt To Reduce Ghosting Artefacts นี้ให้คุณเลือก Background Movement เสร็จแล้วให้คลิ๊ก Generate HDR
  3. ตรวจโทนภาพ >> ก่อนที่คุณจะทำ Tone Map ภาพของคุณ คุณจะเห็นพรีวิวภาพ HDR ปรากฏขึ้นมา อย่าเพิ่งสนใจว่าภาพพรีวิวนี้จะมีหน้าตาอย่างไร เพราะเมื่อคุณลากเมาส์ลงบนภาพ โทนต่างๆ ก็จะปรากฏในหน้าต่างพรีวิวขนาดเล็ก ให้คุณคลิ๊ก Tone Mapping เพื่อเริ่มปรับแต่งภาพและสร้างภาพ HDR ของคุณ
  4. Tone Mapping >> ตรวจดูกราฟ Histogram โดยให้ข้อมูลต่างๆ ในกราฟกองรวมกันอยู่บริเวณกลางและไม่ให้มีพื้นที่ชาโดว์และไฮไลท์ขาดหายไป ให้คุณปรับค่า Strength เป็น 89 ค่า Colour Saturation เป็น 64 ค่า Luminosity เป็น 10 ค่า Light Smoothing เป็น Med/High ค่า Microcontrast เป็น 5 ค่า White Point เป็น 0.006 ค่า Black Point เป็น 0.001 และค่า Gamma เป็น 1
  5. เปิดภาพในPhotoshop >> คลิ๊ก Process แล้วบันทึกไฟล์เป็น TIFF 8-bit จากนั้นเปิดภาพใน Photoshop Elements เริ่มต้นด้วยการปรับ Levels เพื่อให้ขาเลื่อนกินเข้าไปใน Histogram เล็กน้อย และเพื่อที่จะปรับค่า Midtone ให้สว่างขึ้น ไปที่ Enhance-Adjust Colour-ColourCurves และเพิ่มค่าขาเลื่อน Increase Midtone Brightness
  6. ปรับแต่งครั้งสุดท้าย >> เลือกอุปกรณ์ Burn พร้อมหัวแปรงขนาดใหญ่หัวนุ่มปรับไว้ที่ 5% จากนั้นตั้งค่า Range เป็น Shadows และให้คุณใช้แปรงนี้ระบายบริเวณฉากหน้า ให้สร้างเลเยอร์ Hue/Saturation ขึ้นมาใหม่ และใช้เมนู Edit เพื่อเพิ่มค่า Reds เป็น 30 และค่า Blues เป็น 20 เสร็จแล้วไปที่ Enhance-AdjustShapness และปรับค่า Amount เป็น 65% และค่า Radius เป็น 1.5

เอฟเฟ็คท์ HDR จำลอง
ชื่นชอบภาพสไตล์ HDR แต่มีภาพถ่ายเพียงภาพเดียว? นี่คือวิธีการสร้างสรรค์ภาพจำลองใน Photoshop…
ถ้าคุณรู้สึกชื่นชอบเอฟเฟ็คท์ภาพ HDR แต่ไม่ได้ถ่ายภาพหลากค่าการเปิดรับแสงไว้ เราก็ยังมีวิธีสร้างสรรค์เอฟเฟ็คท์ภาพแบบเดียวกันนี้ได้ ด้วยโปรแกรม Adobe Camera Raw คุณก็จะสามารถปรับเปลี่ยนค่าการเปิดรับแสงของไฟล์ RAW ของคุณได้ ผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะคล้ายคลึงกับการถ่ายภาพคร่อมค่าการเปิดรับแสงอย่างไงอย่างงั้น
ลองแยกภาพไฟล์ RAW ของคุณออกเป็นสามค่าการเปิดรับแสง จากนั้นทำการผสานภาพทั้งสามภาพให้กลายเป็นภาพๆ เดียวด้วยโปรแกรม Photomatix Pro สุดท้ายค่อยทำการตกแต่งภาพในโปรแกรม Photoshop เพื่อปรับเร่งความเปรียบต่างและความสวยงามในภาพของคุณ
  1. ค่าการเปิดรับแสงอันเดอร์ >> เปิดภาพปกติของคุณในโปรแกรม Adobe Camera Raw  ในกล่อง Exposure นี้ ให้คุณพิมพ์ -2 เพื่อทำให้ภาพอันเดอร์ลงสองสตอป ขั้นตอนนี้จะทำให้ภาพเข้มขึ้นและดึงรายละเอียดของภาพออกมาได้ เสร็จแล้วให้บันทึกภาพนี้ไว้
  2. ค่าการเปิดรับแสงโอเวอร์ >> ทำขั้นตอนที่ 1 อีกครั้ง แต่คราวนี้ให้พิมพ์ +2 ในกล่อง Exposure เพื่อทำให้รายละเอียดในส่วนของไฮไลท์โดดเด่นออกมา จากนั้นทำการบันทึกภาพนี้ไว้ นอกจากนั้น อย่าลืมบันทึกภาพเวอร์ชั่นต้นฉบับที่เรายังไม่ได้ทำอะไรกับมัน เพราะเรายังต้องใช้ภาพนั้นอยู่!
  3. ผสานภาพให้กลายเป็นหนึ่ง >> ในโปรแกรม Photomatix ให้ดูคำแนะนำบนจอเพื่อผสานภาพทั้งสามภาพให้กลายเป็นภาพเดียวเหมือนกับที่คุณทำให้ภาพ HDR ตามปกติ และสุดท้าย ให้ปรับแต่งภาพ HDR ของคุณในโปรแกรม Photoshop ตามสมควร
ภาพผลลัพธ์ของการผสานภาพสามค่าแสงที่เปี่ยมไปด้วยพื้นผิวและรายละเอียด
ที่มา : นิตยสาร Digital Camera Issue84 ฉบับธันวาคม 2554 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น